flure- ยื้อ

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2552

บทวิเคราะห์: วิกฤตวงการยา...กับบทเรียนจากหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009


หากมองถึงปัญหาทางด้านสาธาณสุขในการควบคุมป้องกันโรคของไทย จากกรณีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อาจกล่าวได้ว่าการทำงานด้านสาธารณสุขในการป้องกันควบคุมโรคของไทยยังไม่เกิดประสิทธิผลอย่างเต็มที่นัก เพราะที่ผ่านมาการระบาดของโรคยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอัตราผู้เสียชีวิตของไทยจากโรคดังกล่าว ยังมีสถิติที่สูงมากหากเทียบกับประเทศอื่นในแถบภูมิภาคเอเชีย ที่สำคัญคือ การระบาดของโรคใหม่ๆ ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภาวะโลกร้อนเช่นนี้ ปัญหาเหล่านี้เกิดจากปัจจัยใด สำนักข่าวแห่งชาติ ได้ประมวลปัญหาด้านสาธารณสุขของคนไทย ซึ่งพบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการ ดังนี้

ปัญหาด้านการใช้ยาของคนไทย

พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาทั้งที่ผลิตเองในประเทศและยาที่นำเข้าจากบริษัทต่างชาติ ซึ่งในการควบคุมการใช้ยาของไทยเป็นไปตามนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ.2536 และพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2530 และยังคงมีการแก้ไขเพิ่มเติมในปัจจุบัน ทั้งนี้ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทาง แผนงานฯ กล่าวในการประชุมวิชาการเพื่อการพัฒนาระบบยา ประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 3-4 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า ปัญหาด้านการใช้ยาของประเทศไทยยังคงขาดทิศทางการพัฒนาระบบยา อย่างเรื่องของกฎหมายที่ยังคงล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ รวมถึงยังคงมีการแก้ไขไม่แล้วเสร็จ ความล่าช้าเหล่านี้ รวมถึงปัจจัยการเมืองที่มีผลต่อการกำกับดูแลทำให้การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาระบบยาเป็นไปได้ยากและไม่มีทิศทางชัดเจน นอกจากนี้ ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ จากโรงพยาบาลสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา นำเสนอผลการสำรวจเบื้องต้นในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลชุมชน ร้านยา และร้านขายของชำ ใน 40 อำเภอ 20 จังหวัดของ 4 ภูมิภาค พบว่า ยาบางตัวที่ถอนทะเบียนในประเทศไทยแล้วก็ยังพบในบางพื้นที่ โดยเฉพาะร้านขายของชำทั้ง 116 แห่ง ที่มีการสำรวจนั้นพบการขายยาไม่เหมาะสมทุกแห่ง เช่น Chloramphenicol syrup ยาฆ่าเชื้อใช้ในเด็กและการเลี้ยงไก่, Oxytetracycline HCl (Noxy) ขึ้นทะเบียนยาสำหรับสัตว์ และมียาชื่อใกล้เคียงกัน แต่นำไปใช้ในคน Piroxicam (Pox-99) ยาแก้ปวดเมื่อย มีผลข้างเคียงสูง เป็นต้น เหล่านี้สะท้อนว่า มาตรการด้านการควบคุมการใช้ยาในปัจจุบัน ยังไม่สามารถควบคุมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหากมองถึงการจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ตามคลินิกต่างๆ ทั่วประเทศ ในชนิดแคปซูล ซึ่งหากจะให้เด็กกินยาจะต้องละลายยาในน้ำเชื่อมเพื่อให้เป็นชนิดน้ำ เก็บบรรจุในขวดแก้วสีชา ก่อนกินยาต้องเขย่าขวดทุกครั้ง ซึ่งหากไม่เขย่าขวดหรือนำยาไปผสมกับเครื่องดื่มอื่นเช่นนม จะทำให้เด็กได้ยาไม่ครบตามปริมาณที่ใช้ในการรักษาจึงมีโอกาสดื้อยาจะสูงมาก

ปัญหาด้านผู้บริโภค

พบว่า คนไทยมีปัญหาด้านขาดข้อมูลทางสาธารณสุข เช่น จากมาตรการป้องกันสถานการณ์ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการแจกคู่มือป้องกันโรคให้ประชาชน แต่จากการสำรวจของทางสาธารณสุขพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่อ่านรายละเอียด จึงทำให้ไม่มีความรู้วิธีป้องกันโรคที่ถูกต้อง จึงเห็นได้ว่าประชาชนขาดความเข้าใจและไม่ใส่ใจในการควบคุมป้องกันโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

ปัญหาด้านบุคลากรทางการแพทย์

เช่นเดียวกับแพทย์ ที่รับคู่มือแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไป พบว่ามีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่อ่านคู่มือ แสดงให้เห็นว่า การขาดการศึกษาข้อมูลข่าวสาร ทำให้กลไกในการป้องกันโรคไม่เกิดประสิทธิผลมากนัก... ส่วนประเด็นการด้านการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ตามคลินิกเอกชนในกรุงเทพฯ พบว่าคลินิกส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ สาเหตุเพราะกลัวจะเพิ่มภาระการทำงาน ซึ่งพบว่าจังหวัดที่มีคลินิกเข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่อยู่ในเขตเทศบาลกว่าร้อยละ 80 และแพทย์ประจำคลินิกส่วนใหญ่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐด้วย จึงมีความเข้าใจแนวทางการรักษาดีกว่า ทั้งหมดนี้ ถือเป็นปัญหาของไทยที่อาจต้องมีการย้อนกลับมามองตนเองให้มากขึ้น เพราะในปัจจุบัน การระบาดของโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างกาฬโรคปอดในจีน มาตรการในการควบคุมป้องกันที่ออกมาเพียงกำหนดกฎเกณฑ์จึงอาจไม่มีความหมาย หากไม่ได้มีการพัฒนาปัญหาจากระบบและบุคคลากรในสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมุทรสาคร-มหาสารคาม

google maps


ดู แผนที่จาก google ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า